bclub99.com : ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก และหนึ่งในนั้นก็คือสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย ที่ทำให้ประเทศแตกสลายในอดีตพวกเขาคือประเทศขนาดกลาง ที่ประกอบกันจากรัฐต่างๆ และเขตปกครองตนเอง แต่หลังจากสงครามประกาศเอกราชปะทุขึ้นในปี 1991 ยูโกสลาเวีย ก็เหลือแต่ชื่อ เมื่อถูกแยกออกเป็นหลายๆ ประเทศ อย่าง สโลวีเนีย, โครเอเชีย, มอนเตเนโกร รวมถึง เซอร์เบียสงครามไม่เพียงทำให้ประเทศต้องแยกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ยังทำให้สโมสรหนึ่งในโคโซโว อดีตเขตปกครองตนเองของยูโกสลาเวีย ต้องแตกออกเป็นสองทีม และเล่นอยู่ในลีกของประเทศที่ต่างกัน แม้ว่ายูโกสลาเวีย จะถูกเรียกว่าประเทศ แต่พวกเขาคือรัฐและเขตปกครองตนเอง ที่รวมกันเป็นประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 รัฐคือ เซอร์เบีย, โครเอเชีย, สโลวีเนีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, มอนเตเนโกร, มาซิโดเนีย และ 2 เขตอิสระ คือ วอยวอดีนา และโคโซโว ที่ขึ้นกับเซอร์เบีย โดยในโคโซโว พวกเขาก็มีสโมสรหนึ่งที่ชื่อว่า เอฟเค เทรปกา (FK Trepca) ที่ตั้งอยู่ในเมืองมิโตรวิกา ทางตอนเหนือใกล้กับพรมแดนของเซอร์เบีย ซึ่งครั้งหนึ่งสโมสรแห่งนี้ เคยเป็นหนึ่งในทีมที่น่าจับตามองที่สุดของประเทศในทศวรรษที่ 1970 พวกเขาคือทีมแรกจากโคโซโว ที่สามารถเข้าไปเล่นในลีกสูงสุดยูโกสลาเวียได้สำเร็จในปี 1977 ยิ่งไปกว่านั้นในปีถัดมาพวกเขา ยังไปได้ไกลด้วยการคว้าตำแหน่งรองแชมป์ยูโกสลาฟคัพ แม้จะตกชั้นก็ตาม
“มันเป็นหนึ่งในลีกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา” บาร์เดค เซเฟรี อดีตนักเตะของ เทรปกา ที่เคยเล่นให้ทีมในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ย้อนความหลังกับ The New York Times หนึ่งในปัจจัยเติบโตอย่างรุดหน้า คือความเจริญของเมืองมิโตรวิกา เมื่อในอดีตเมืองแห่งนี้คือเมืองที่ร่ำรวยและโด่งดังที่สุดเมืองหนึ่งในยูโกสลาเวีย โดยกว่า 70 เปอร์เซนต์ ของ GDP (ผลิตภันฑ์มวลรวม) มาจากการทำเหมืองที่เต็มไปด้วยแร่สังกะสี, เงิน, ทอง และตะกั่ว เหมืองทำให้เมืองและสโมสรฟุตบอลขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเซิร์บ และชาวแอลเบเนีย ได้รับการจ้างงานจากเหมืองแห่งนี้ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังเชียร์ทีมเดียวกัน ซึ่งทำให้แต่ละเกมมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามสูงถึง 20,000 คน ยูโกสลาเวียถูกปกครองโดยนายพล โจซิป ติโต ผู้นำคอมมิวนิสต์ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาพยายามรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น แต่ได้กระจายอำนาจให้แต่ละรัฐสามารถปกครองตัวเองได้ ทว่าหลังการอสัญกรรมของเขาในปี 1980 ยูโกสลาเวียก็เริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ตอนนั้น พร้อมกับการก่อตัวของขบวนการเรียกร้องเอกราชที่ชัดเจนขึ้น และการมาถึงของ สโลโวดาน มิโลเชวิช ผู้นำยูโกสลาเวียคนใหม่ ก็ทำให้ความขัดแย้งเริ่มปะทุรุนแรง มิโลเชวิช ปกครองประเทศด้วยนโยบายชาตินิยมทางชาติพันธุ์อย่างสุดโต่ง โดยให้อำนาจและความชอบธรรมกับกลุ่มชาวเซิร์บ และลิดรอนเสรีภาพรัฐอื่นๆ ด้วยการยกเลิกสิทธิ์ในการปกครองตนเองของรัฐต่างๆเขายังนำกำลังเข้าปราบปรามเขตปกครองตนเอง รวมไปถึงโคโซโว ซึ่งทำให้ความขัดแย้ง ลุกลามไปถึงสโมสรเทรปกา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งเชื่อมโยงชาวเมืองที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติไว้ด้วยกัน
การปราบปราม ทำให้ชาวเมืองเชื้อสายแอลเบเนีย กลายเป็นแกนนำในการต่อสู้กับทางการ และมีบทบาทมากขึ้นในเมืองแห่งนี้ ในขณะเดียวกันชาวเหมืองกว่าพันคนยังได้หยุดงาน 8 วัน 8 คืนเพื่อประท้วงการกระทำของของรัฐก่อนที่ในปี 1991 ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสโลวีเนีย ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช จนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ในขณะเดียวกันรัฐอื่นๆ ก็ถูกริดรอนสิทธิอย่างหนัก เช่นเดียวกับโคโซโว ทำให้ผู้เล่นเชื้อสายแอลเบเนีย ของ เอฟเค เทรปกา ตัดสินใจลาออกจากทีม เพราะรับไม่ได้ในเรื่องนี้ รวมถึงเซเฟรีด้วย “มันเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองฝั่งเซอร์เบีย พวกเขาบอกว่าถ้าคุณอยากเล่นกับเราต่อไป คุณต้องยอมรับในกฎของเรา รัฐบาลของเรา และเราก็ไม่เห็นด้วย” เซเฟรีกล่าว จากนั้นโคโซโว ได้ตั้งลีกขึ้นมา เป็นลีกคู่ขนานกับลีกของทางการ มันเป็นลีกผิดกฎหมายที่ไม่ได้รับการรับรองจากส่วนกลาง และมักจะถูกตำรวจเข้าจับกุมระหว่างเกมหลายครั้งการเลือกอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลกลางทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทีมส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนมากนัก ต้องเล่นในสนามเก่าๆ และซักผ้าในทะเลสาบที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ในขณะที่ เอฟเค เทรปกา ยังคงได้เล่นในลีกยูโกสลาเวียต่อไป โดยแทบไม่มีนักเตะเชื้อสายแอลเบเนียแม้แต่คนเดียว “ผมรู้สึกขนลุกที่เห็นพวกเขาเล่น เรากำลังเล่นอยู่ในชนบท ได้รับบาดเจ็บ ถูกจับ ถูกกลั่นแกล้ง แต่เราก็ยังเล่นต่อไป” เซเฟรี ย้อนความหลัง แต่พวกเขาไม่ต้องการให้มันหยุดอยู่แค่นี้ และเมื่อหลังสงครามโคโซโวสงบ พวกเขาจึงเลือกทำให้สิ่งที่ปรารถนา นั่นคือการสร้างทีมของเมืองขึ้นมาอีกทีม สงครามประกาศเอกราชของสโลวีเนีย เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของสงครามบนแผ่นดินยูโกสลาเวีย เมื่อหลังจากนั้นได้เกิดสงครามประกาศเอกราชอีกหลายครั้ง ทั้งสงครามประกาศเอกราชโครเอเชีย, สงครามแบ่งแยกบอสเนียฯ และสงครามโคโซโว ก่อนที่ท้ายที่สุดไฟของสงครามจะมาถึงบทยุติในปี 1999 หลังสงครามโคโซโว จบลงจากการแทรกแซงของนาโต ที่ทำให้ โคโซโว ตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหประชาชาติ